พัณนิดา เศวตาสัย


 

/


ช่วง ปลายทศวรรษ 70 มีนักร้องหญิงเอเชียหลาย ๆ คน มีผลงานที่มาสร้างความนิยม
ในบ้านเรา เช่น แอกเนส ชาน กับ เฟลีเซีย ทั้งคู่จากเกาะฮ่องกง และ วีจีส์  ชาวตากาล็อค 
ผลงานเพลงที่แฟนเพลงในเมืองไทยชอบ ๆ กัน ก็เป็นงานคัฟเวอร์เพลงสากลทั้งสิ้น 
โดยนำเสนอในรูปแบบเพลงโฟล์คเป็นหลัก ถ้าต้นฉบับไม่ใช่เพลงที่เน้นเสียงอคูสติค 
ผู้เรียบเรียงดนตรีก็จะเรียบเรียงเพลงใหม่ โดยนำเสนอผ่านเสียงกีตาร์โปร่งเป็นหลัก

ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน นักร้องหญิงของไทยที่พอจะเข้าข่ายเป็นไทป์เดียวกันได้แก่ 
พจนีย์ อินทรมานนท์ ซึ่งเป็นนักร้องเพลงโฟล์คประจำค๊อฟฟี่ช็อปและโรงแรม 
มาโด่งดังเป็นที่รู้จัก ก็จากการได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน และ รักอุตลุด 
พจนีย์ เป็นเจ้าของเสียงเพลง ระทมรัก ที่หลัง ๆ ยังได้ยินการนำมาคัฟเวอร์อยู่บ้าง

เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทศวรรษที่ 80 ตอนต้น ๆ นักร้องหญิงที่มีภาพออกไปในโทนเดียวกับกลุ่มที่
ได้กล่าวไปก็เห็นจะมีแต่ พัณนิดา เศวตาสัย (เอ๋) ที่มีผลงานเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม
จากอัลบั้มและเพลงเปิดตัวคือเพลง เดียวดาย สังกัดรถไฟดนตรี ระย้าวางภาพพัณนิดาผูกไว้
กับดนตรีโฟล์คในงานสองชุดแรก ก่อนที่จะปรับแนวเพลงมาเป็นป๊อปในชุดต่อ ๆ มา

พัณนิดา เศวตาสัย เกิดวันที่ 13 สิงหาคม 2508 ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่ ป.2 
ขณะที่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ที่โรงเรียนราชินี มีการประกวดร้องเพลงสำหรับนักเรียนชั้นปฐมใน
โรงเรียน จนเหลือสองคนสุดท้ายในรอบชิง คู่แข่งของ เอ๋ อีกคนในขณะนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน
คือ แอม (เสาวลักษณ์ ลีละบุตร) ที่กลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิก สาว สาว สาว ในเวลาต่อมา 
(ไม่ทราบจริง ๆ ว่าใครชนะ) ขึ้นชั้นประถม 7 พัณนิดาได้เรียนกีตาร์ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ

เมื่ออยู่ชั้น มศ.1 โรงเรียนราชินีต้องการระดมทุนเพื่อหาเงินสร้าง สวนขวัญ 
อาจารย์ลดาวัลย์ โสมศรี จึงทำเทปเพื่อหารายได้เข้าโครงการดังกล่าว จึงให้เอ๋และแอม 
เป็นผู้ขับร้องในเทปชุดนี้ ซึ่งมีเพลง เดียวดาย ที่แต่งโดยอาจารย์ลดาวัลย์รวมอยู่ในชุดนี้ด้วย 
ทางโรงเรียนก็นำเพลงไปฝากเปิดตามรายการวิทยุในช่วงเวลานั้น รายการมิวสิคเทรนโดย
คุณระย้าได้ฟังเพลงนี้ก็ชอบ จึงติดต่อมายังอาจารย์ลดาวัลย์เพื่อจะขอนำมาบันทึกเสียงใหม่
เพื่อออกขายและให้พัณนิดาเป็นผู้ขับร้อง แต่ทางบ้านของคุณเอ๋ไม่อนุญาตระย้าเลยต้อง
พับโครงการนี้ไปก่อน

พัณนิดาสอบเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมวิทยา
และมานุษยวิทยา ในปี 2525 (เข้าใจว่าสอบเทียบนะครับ คุณเอ๋เป็นนักเรียน มศ.5 รุ่นสุดท้าย
ก่อนที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษามาเป็น ม.) ในขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 อาจารย์ลดาวัลย์ก็มี
ไอเดียในการทำเทปขึ้นมาอีกจึงให้ พัณนิดา เป็นผู้ร้องนำ และทำดนตรีโดย ธีระศักดิ์ อัจจิมานนท์ 
ทำไปได้สักพักทุนก็หมด อาจารย์ลดาวัลย์เลยลองติดต่อไปทางระย้าซึ่งมีความสนใจในเพลง
ชุดนี้อยู่ก่อนหน้าแล้ว เทปชุดนี้เลยเดินหน้าผลิตต่อจนเสร็จ และออกขายในปี 2527 ในชื่อชุด 
เดียวดาย ซึ่งได้รับความนิยมแบบ น้ำซึมบ่อทราย คือค่อย ๆ ได้รับความนิยมและขายไปได้
เรื่อย ๆ จนต้องออกชุดที่สอง หลงรักเธอ ตามมาในปี 2528 เป็นการคัฟเวอร์เพลงเก่า 
อย่างเช่น หลงรักเธอ ของ อิสซึ่น และ หลง และ เพียงเดียว จากหนัง รักทะเล้น 
งานสองชุดแรกวางภาพพัณนิดาไว้เป็นสาวโฟลค์ที่เล่นกีตาร์และร้องเพลง

พัณนิดามีเนื้อเสียงบาง ๆ แต่หวานมาก เพลงที่เข้าปากเธอส่วนใหญ่จะเป็นเพลงช้า 
แต่เนื่องด้วยเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว เมื่อรายการโลกดนตรีติดต่อให้ออกแสดงเธอก็ปฏิเสธไป 
รวมถึงรายการเกมโชว์หรือทอลค์โชว์ประเภทต่าง ๆ จะไม่เห็นพัณนิดาเลย

เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ระหว่างที่เตรียมตัวรอไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รถไฟดนตรีก็ให้พัณนิดาบันทึกเสียงงานชุด คิดถึงจัง ช่วงที่งานชุดนี้
ออกวางขายเธอก็บินไปศึกษาต่อแล้ว ผลปรากฏว่า เพลง ฉากสุดท้าย ได้รับความนิยมสูงมาก
และกลายเป็นเพลงประจำตัวคุณเอ๋มาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นพัณนิดาก็มีงานออกมาเป็นระยะ ๆ โดยมีแฟนเพลงของเธอกลุ่มหนึ่งติดตามงาน
อยู่เรื่อย ๆ ถึงแม้ยอดขายจะไม่เปรี้ยงปร้างแต่คุณภาพของงานเพลงและการขับร้องของเธอ
ไม่ทำให้แฟนเพลงผิดหวัง ปัจจุบันพัณนิดาทำงานอยู่ที่ ปตท. ส่วนบริหารสัญญา สายการค้า
ระหว่างประเทศ

ล่าสุดใน กรีนคอนเสิรต์หมายเลข 10 
The Lost Love Songs (ก.ย.50) พัณนิดาเป็นหนึ่งใน
นักร้องจากยุค 80 ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงด้วย เธอร้องเพลง เดียวดาย และ ฉากสุดท้าย 
เป็นคอนเสิรต์ครั้งแรกในชีวิตของเธอนับตั้งแต่ออกอัลบั้มชุดแรกในปี 2527

ผลงานเพลง
เดียวดาย (2527
)
หลงรักเธอ (2528)
คิดถึงจัง (2529)
ข้ามฟ้า...มาฝาก (2531)
Back To The Old Day (2532)
In The Mood I & II (2533)
ใจสองดวง (2534)
เติมเชื้อไฟ (2536)
ฟ้าเดียวกัน (2544)
ทำตามหัวใจ (2546)

 

 


/  /
หลงรักเธอ (2527)                        คิดถึงจัง (2529)

/  /
Back To The Old Day (2532)        In The Mood I & II (2533)

/  /
ใจสองดวง (2534)                        ฟ้าเดียวกัน (2544)

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/11/05/entry-1