นกแก้ว กาฬสินธุ์

นกแก้ว กาฬสินธุ์ มีชื่อจริงว่า วรชัย วังตาล และมีชื่อเล่นว่า ต๋อย มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านห้วยสีทน  อ.เมือง จ. กาฬสินธุ์ เป็นบุตรคนเล็กในบรรดาบุตร 3 คนของนายวินัย วังตาล และนางคำแพง สุทธิประภา เมื่อมีอายุได้แค่ 3 ขวบ พ่อกับแม่ได้แยกทางกัน ทำให้เขาต้องมาอยู่ภายใต้การดูแลของคุณยายเท สุทธิประภา ที่มีอาชีพทำนา และมีฐานะยากจนมากแทน

เมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ นกแก้ว กาฬสินธุ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนหามแหโพนทองวิทยาคม ที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 4 กิโลเมตร และในการไปโรงเรียน เนื่องจากฐานะยากจน เขาก็จึงต้องเดินไปเอง พอถึงช่วงพักกลางวัน เด็กชายนกแก้วก็จะอาสารับหน้าที่ล้างถ้วยล้างจานให้กับบรรดาครูต่างๆ แลกกับรางวัลเป็นอาหารที่บรรดาครูๆจะเจือจานให้เด็กชายนกแก้วได้ประทังความหิว

สำหรับวันเสาร์อาทิตย์ที่โรงเรียนปิด  เขาก็จะไปยังวัดห้วยสีทน  เพื่ออาศัยข้าวก้นบาตรประทังความหิว ส่วนในช่วงปิดเทอมใหญ่ ที่โรงเรียนปิดยาว เขาก็จะบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนประจำทุกปี ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลจากการที่เขาจะได้มีข้าวและขนมกิน ไม่ได้เกี่ยวกับการฝักใฝ่สนใจในพระศาสนาที่แท้จริงแต่อย่างใด

แม้เด็กชายนกแก้วจะเป็นเด็กค่อนข้างดื้อ และเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่ด้วยความสามารถทางด้านกีฬามาตั้งแต่เด็ก และความมีน้ำใจ ทำให้เขาเป็นที่รักของบรรดาครูๆในโรงเรียน

เมื่ออายุได้ 12 ขวบ และจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้ว เพื่อเป็นการช่วยยายที่อายุมากแล้ว และเพื่อหารายได้ใช้เอง เขาได้ไปสมัครเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารที่ “ กาฬสินธุ์รีสอร์ท “ ที่ไม่มีเงินเดือนประจำ แต่จะได้ทิปจากแขก และความขยันขันแข็งในการเอาใจแขก ทำให้เขาได้ทิปมากกว่าคนอื่นๆในร้าน

และที่นี่เองที่เขาได้รู้จักกับคุณเยาวมาลย์ ศุภาวัฒน์ หรือ ก้อย เจ้าของอาคารบุญผ่อง แถวซอยอารีย์ ที่ชอบพาครอบครัวมาพักที่รีสอร์ทแห่งนี้เป็นประจำ และเกิดถูกชะตากับเด็กชายนกแก้ว ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกๆของเธอ จึงออกปากชวนมาอยู่กรุงเทพฯด้วย ซึ่งเขาก็ตกลงใจมาทันที โดยมีเสื้อผ้าเก่าๆมาด้วยเพียงชุดเดียวเท่านั้น แม้จะยังไม่รู้ว่า เมื่อมาแล้ว เขาจะต้องทำอะไร เหตุที่ตัดสินใจมาก็เพราะอยากมีชีวิตที่ดีกว่า และอีกเหตุผลหนึ่งก็คืออยากจะเจอกับพ่อและแม่ หลัง จากที่ไม่เคยเจอหน้าเลยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยเขาได้ข่าวว่าทั้งสองได้มาอยู่ที่กรุงเทพฯ 

เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ ผู้มีพระคุณส่งเขาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดน้อยนพคุณ และเพื่อแลกกับการได้อยู่และเรียนหนังสือในเมืองกรุงฯ  เขาจะต้องช่วยงานในบ้านสารพัด  แต่เขาอยู่ที่นี่ได้พักหนึ่ง ก็มีปัญหาบางอย่าง ทำให้ต้องออกจากบ้านผู้มีพระคุณ และออกจากโรงเรียนกลางคัน

จากนั้น นกแก้ว ตัดสินใจออกตามหาแม่ เพราะคิดว่าแม่น่าจะส่งเขาเรียนต่อได้ ในที่สุดเขาก็ตามหาแม่จนเจอที่ท่าพระ แต่แม่ไม่สามารถส่งเขาเรียนต่อไป จึงให้พี่ชายคนโตพาเขาไปอยู่กับพ่อที่ไปมีครอบครัวใหม่อยู่แถววงเวียนใหญ่ แต่เขาก็อยู่ที่นี่ได้ไม่นาน เมื่อถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน เพราะไปทะเลาะกับลูกเลี้ยงของพ่อ

ช่วงที่อยู่กับพ่อ เขาไปสมัครเป็นเด็กติดรถส่งของร้านขายส่งสินค้าไปต่างจังหวัด ตอนนั้นเขาอายุ 14 ปี และมีรายได้เดือนละ 1,500 บาท ส่วนในช่วงเวลาว่าง เขาก็เรียนหลักสูตร กศ.น. จนจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่เขาทำงานส่งของได้ปีเดียวก็ลาออก เพราะรายได้น้อย

จากนั้น เขาก็กลับไปพึ่งคุณก้อย ผู้มีพระคุณอีกครั้ง ตอนนั้นเธอได้เปิดฟิตเนสอยู่แถวซอยราชครู  และนกแก้วก็ได้ทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดฟิตเนส และต่อมาก็เลื่อนขั้นมาเป็นครูสอนเต้นแอโรบิก แต่เขาสอนเต้นแอโรบิกได้แค่ 6 เดือนก็ต้องหยุด เพราะประสบอุบัติเหตุขาเจ็บ

ตอนนั้นเขาเห็นวินมอเตอร์ไซค์แถวซอยราชครู ก็เลยอยากลองขับมอเตอร์ไซค์วินบ้าง จึงไปดาวน์มอเตอร์ไซค์มาขับ แต่ก็เกือบมีเรื่อง เพราะไม่รู้ธรรมเนียมว่าการที่จะขับมอเตอร์ไซค์วินได้ ต้องซื้อเสื้อวินกับเจ้าของวินก่อน ตอนนั้นราคาเสื้อวิน คือ 30,000 บาท แต่เขาไม่มีเงิน ก็เลยไปขอกับทาง “ อ๊อด “ เจ้าของวินว่าจะขอขับแค่ 2 ปี เมื่อผ่อนรถหมดแล้วก็จะเลิก ซึ่งทางเจ้าของวินก็เกิดใจดี เมื่อเห็นว่าเด็กกล้าขอ เขาก็กล้าให้ นกแก้วก็เลยได้ขับมอเตอร์ไซค์วินฟรีนับตั้งแต่นั้นมา

นกแก้วขับรถไปด้วยและเรียนศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยไปด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นก็ไปสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ช่วงที่ขับรถอยู่นั้น เขาก็เริ่มมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง ก็พอดีมีคนรู้จักชวนไปเป็นตัวประกอบประเภทเดินผ่านหน้ากล้องในละครหลายเรื่อง ได้ค่าตัววันละ 150 – 200 บาท ซึ่งเขาก็ชอบงานการแสดงมาก ถึงขั้นห่างหายจากการขับมอเตอร์ไซค์วินไปเลย และใฝ่ฝันถึงวันที่จะได้มีบทพูด หรือได้เล่นเป็นตัวหลักกับเขาบ้าง

แต่จนแล้วจนรอด วันนั้นก็ไม่มาถึงสักที จนสุดท้ายก็ได้ไปถ่ายโฆษณาน้ำมันไร้สารตะกั่วของ ปตท. คู่กับ ดักแด้ แต่งานนี้ เขาต้องทาสีตะกั่วทั้งตัว ทำให้ไม่มีใครจำเขาได้อีก ก็เลยเท่ากับว่า เขาไม่ประสบความสำเร็จกับชีวิตนักแสดง ก็จึงตัดสินใจกลับมาขับมอเตอร์ไซค์หาเลี้ยงชีพตามเดิม

ช่วงนั้น เขาต้องไปส่งผู้โดยสารที่สนามกีฬากองทัพบกแถวถนนวิภาวดีรังสิตเป็นประจำ แต่เมื่อส่งผู้โดยสารเสร็จ เขาก็มักนั่งดูนักฟุตบอลซ้อมฟุตบอล ดูไปดูมา ด้วยความชอบกีฬาอยู่เป็นทุนเดิม เขาก็เลยไปสมัครเป็นเด็กเก็บลูกฟุตบอล จนได้รู้จักกับ พ.อ.พิเศษ วรวุฒิ ทองศรีงาม ที่ได้เรียกให้เขามาซ้อมฟุตบอลกับนักเตะรุ่นใหญ่ พร้อมกับเป็นเด็กเก็บฟุตบอลไปด้วย ซึ่งที่นี่เขาได้รับเบี้ยเลี้ยงด้วย ก็จึงเลิกขับมอเตอร์ไซค์วิน เพราะขับรถมาครบ 2 ปีตามที่สัญญากับทางเจ้าของวินแล้ว

ที่นี่ นกแก้วได้รู้จักกับ อ.ชาญวิทย์ ผลชีวิน หรือ โค้ชหรั่ง โค้ชฟุตบอลทีมชาติไทย และ สุชาดา ผลชีวิน แฟนของโค้ชหรั่ง ที่เปิดบริษัท กอล์ฟไทม์ ซินดิเคท จำกัด ทำหนังสือเกี่ยวกับกอล์ฟ ทำให้เขาได้ทำงานเป็นพนักงานส่งเอกสาร หรือแมสเซนเจอร์ของที่นี่ด้วย ก็เลยมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกเดือนละ 4,500 บาท  ต่อมา เขาก็ได้ไปเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรธนาคารกสิกรไทยในฐานะเด็กฝึก แต่ต่อมาสโมสรถูกยุบ  นักเตะก็เลยกระจัดกระจายกันไป นกแก้ว ก็ได้ไปคัดตัวกับหลายทีม แต่สุดท้ายก็ได้มาอยู่กับทีมบีอีซีเทโรศาสน ในตำแหน่งผู้รักษาประตู จากการชักนำขององอาจ ก่อสินค้า 

นกแก้ว อยู่กับทีมนี้ 4 ปี และได้เดินทางไปเล่นฟุตบอลในต่างประเทศหลายประเทศ  แต่เมื่อหมดสัญญา ก็เลยต้องมาทำงานส่งเอกสารที่ กอล์ฟไทม์ อย่างเดียว

ต่อมา เขาได้รู้จักกับ วิลักษณ์ โหลทอง  ประธานบริษัทสยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด ( มหาชน ) จึงได้เข้ามาทำงานกับหนังสือพิมพ์สยามกีฬาในฐานะพนักงานส่งเอกสาร ขณะเดียวกัน เขาก็หารายได้พิเศษโดยการทำน้ำส้มคั้นขายให้กับลูกค้าประจำ ทำให้เขามีรายได้พิเศษวันละ 700 – 800 บาท แต่ต่อเขาก็เลิกทำ เพราะวัตถุดิบไม่ได้มีออกมาทั้งปี นอกจากนั้น เขาก็ยังทำงานเป็นตัวแทนขายประกันรถยนต์อีกด้วย

ระหว่างทำงานส่งเอกสาร นกแก้ว ที่ชอบใฝ่หาความก้าวหน้าในชีวิต ก็ขอฝึกการทำข่าวไปด้วย โดยลงทุนซื้อกล้องถ่ายรูปเอง ก่อนจะมาขอเป็นผู้ช่วยถ่ายภาพคอนเสิร์ตลูกทุ่งตามงานต่างๆ แล้วจึงมาอยู่กับหนังสือพิมพ์สยามดารารายวัน  มีหน้าที่ดูแลหน้าลูกทุ่ง โดยมีเอกชัย ไกลเทพ นักข่าวรุ่นพี่คอยเป็นพี่เลี้ยงและช่วยแนะนำ นอกจากนั้น เขาก็ยังได้รับโอกาสให้เข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ด้วย

ช่วงที่เขาไปทำข่าว ได้ร้จักกับครูเพลงลูกทุ่งหลายคน ก็จึงนึกอยากจะเป็นนักร้องกับเขาบ้าง พอดีได้รู้จักกับ อ.โปร่ง – เสถียรชัย สุวรรณพิมพ์ จึงเอ่ยปากขอให้ช่วยแต่งเพลงให้เขาสักเพลง ซึ่งเขาก็ได้เพลงแรกในชีวิตของตัวเองมา ชื่อ “ พ่อเจ้าซั้นตี้ “ จากนั้นเขาก็ส่งเพลงที่ทำเสร็จไปยัง คลื่น FM 95.0 ลูกทุ่งมหานคร ในโครงการ “ เพลงช้างเผือก “ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไม่มีค่าย ไม่มีสังกัด มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน และเพลงนี้ก็ได้ออกอากาศสู่หูผู้ฟังเป็นครั้งแรก จากการเปิดของ ผอ.สถานี วาสุ เลิศจรรยา 

ช่วงนั้น เขาก็ยังทำงานส่งเอกสารอยู่ แต่ส่งเฉพาะเอกสารส่วนตัวของเจ้านายเท่านั้น ในเวลาว่าง เขาก็ไปทำข่าว ร้องเพลงตามงานต่างๆที่เขาไปทำข่าว

จากนั้นประมาณปีกว่า นกแก้ว ก็ได้พบกับนักเพลง 2 คน คือตะวันฉาย ชิงชัย และ กรกฎ รักดี ที่ได้ร่วมกันทำเพลง “ หมาบ่มีสิทธิ์ “ ให้เขา พร้อมกับตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่า “ นกแก้ว กาฬสินธุ์ “ 

เพลงนี้ ทำให้นกแก้ว กาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักของแฟนเพลงมากมายในยุคปี 2554  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน และประเทศลาว ตัวเพลงเองก็ติดชาร์ตเพลงฮิต ส่วนยอดการชมทางยูทูบ ก็อยู่ในระดับที่สูงทีเดียว

ต่อมาเขาก็ปล่อยเพลงชื่อ “ จำคำว่าคิดฮอด เปลี่ยนเป็นกอดบ่ได้ “ ตามออกมา และเมื่อเกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ เขาก็ปล่อยเพลงเฉพาะกิจ ชื่อ “ ขอบคุณครับ “ เพื่อเป็นการกล่าวขอบคุณแทนบรรดาหมาแมวที่ประสบกับภัยน้ำท่วม และได้รับความเมตตาจากผู้ใจบุญ เก็บมาเลี้ยงดูแทนเจ้าของเดิมที่ทิ้งพวกมันไป

แม้จะเริ่มมีชื่อเสียง นกแก้ว กาฬสินธุ์ ก็ยังคงทำงานที่เขาทำอยู่เดิม คือส่งเอกสาร และทำข่าวให้กับสยามดารา ทำให้ตามเวทีเพลงลูกทุ่งใหญ่ เราจะเห็นเขาถือกล้องขึ้นไปถ่ายรูปนักร้อง และเมื่อถึงคิว เขาก็จะขึ้นเวที เพื่อไปทำหน้าที่เป็นนักร้อง

นับเป็นนักร้องดังอีกคนหนึ่งที่มีชีวิตที่ค่อนข้างจะแปลกประหลาด เพราะเขาไม่เคยผ่านเวทีการประ กวดการร้องเพลง ไม่เคยผ่านการร้องเพลงบนเวที และยังเข้าข่ายอัจฉริยะที่มากับดวงอีกต่างหาก เพราะนึกอยากจะเป็นนักแสดง ก็ได้เป็น อยากเป็นนักฟุตบอลอ่ชีพ ก็ได้เป็น  จู่ๆอยากเป็นนักร้อง ก็ได้เป็น 

ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารชีวิตต้องสู้  ฉบับที่ 641 ประจำเดือนพฤศจิกา 2554