กู่แคน สคูล ไทบ้านผู้สร้างงานศิลป์

‘กู่แคน สคูล’ ไทบ้านผู้สร้างงานศิลป์
วงดนตรีอีสานพันธุ์ใหม่ขวัญใจอินดี้
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: กันต์ อัศวเสนา

กำลังเป็นที่จับจ้องของสื่อและกลุ่มผู้ฟังหลากหลาย สำหรับความเคลื่อนไหวต่องานเพลงใหม่ๆ ที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องในรอบ 3 ปี ของ ‘กู่แคน สคูล’ วงดนตรีอีสานพันธุ์ใหม่ ที่แน่นอนแล้วว่า ถึงวันนี้พวกเขามีลายเซ็นในโลกดนตรีค่อนข้างเด่นชัด นอกจากให้สัมภาษณ์พร้อมโชว์งานเพลงในช่วงไทยบันเทิงและรายการข้างหลังเพลง ผ่านช่อง Thai PBS รายการซุปเปอร์หม่ำ ช่อง 1 เวิร์คพอยท์ นี่นับว่าเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกที่กู่แคนพูดตรงไปตรงมาอย่างชนิดเปิดอกทุกอณูความคิด

โดยไม่ต้องซักซ้อม ทันทีที่ม่านแดงถูกเปิดออกพร้อมการปรากฏตัวของสมาชิกกู่แคน เสียงเฮใหญ่จากผู้ชมในหอประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังขึ้นเป็นระรอกต้อนรับการมาถึงของพวกเขาอย่างอบอุ่น ทั้งหมดเป็นนักเรียนมัธยมปลายจากทั่วทุกอำเภอในขอนแก่น เพราะเป็นงาน ‘มหกรรมติวใหญ่ A link all in one 2015’ เดาได้ไม่ยากว่า ดนตรีวงนี้กลายเป็นขวัญใจเยาวชนภาคอีสานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยก็ยืนยันด้วยจำนวนผู้ร่วมงานนับพันคนในเวลานี้

กว่า 10 เพลงคัดสรรที่กู่แคนนำมาบรรเลงช่วงบ่ายวันนั้น ไม่ว่าเป็น กู่แคนสคูล เนื้อหาบอกอุดมการณ์และเจตจำนงของวงดนตรีผ่านคำร้องของบทเพลง แคนฮ้างนางฟ้า ผู้เฒ่าโง่ ใจของอ้ายที่เจ้าให้เขามาเหยียบ หรือบ่ได้ฮัก เพลงยอดฮิตติดหูที่ทุกคนแทบจะร้องตามได้พร้อมกัน เช่นเดียวกับการแสดงสดทุกครั้งที่ผลออกมาน่าพอใจ แม้ช่วงสุดท้ายของรายการก็ยังไม่มีทีท่าว่าใครจะลุกหนี เสียงสะท้อนของผู้ชมจากมุมใดมุมหนึ่งบอกความในใจต่อกู่แคนให้ทราบว่า

‘พวกพี่เขาเป็นอินดี้ หนูก็เป็นอินดี้ค่ะ กรี๊ดๆๆ’

‘ชอบทุกอย่างโดยเฉพาะสไตล์การแต่งตัวค่ะ’

‘ติดตามฟังผลงานเพลงของพี่ๆ จากยูทูปครับ’

สมาชิกทั้งวงเป็น ‘นักศึกษาดนตรี’ จากรั่วมหาวิทยาลัยขอนแก่น จุดประกายไฟฝันเล็กๆ เพราะต้องการเล่นดนตรีที่ตนรัก น่าสนใจว่า กู่แคนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ เพื่อสื่อสารกับสังคมและใจของตัวเอง เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการผ่าน Youtube.com กับสองผลงานเพลงแรก ‘ลำใส่แคน Thailand 2013’ และ ‘ลำใส่แคน Thailand 2013 Again’ ที่ถูกแชร์ฟังต่อๆ กันอย่างคึกคักในโลกออนไลน์ ประสบความสำเร็จอย่างมากกับ ‘บ่ได้ฮัก’ ที่เรียกยอดคลิกจากผู้ฟังได้เกือบเหยียบสิบล้านวิว

อัฐ [จิรายุ สูตรไชย] หรือที่รู้จักในฉายาหมอลำ ‘ก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน’ หนุ่มผมยาวร่างบางนักร้องนำวง คนสกลนคร ดีทั้งชั้นเชิงกลอนลำ เทคนิค และแก้วเสียงกังวาน ลงทุนดรอปเรียน 1 ปี เต็มเพื่อใช้เวลาทั้งหมดทดลองทำดนตรีอีสานแนวใหม่ มีผลงานแสดงและโด่งดังจากการทำเพลง ‘ยังฮัก’ ประกอบหนัง เรื่องผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ [ผบทบ] เป็นกระดูกสันหลังและปากเสียงสำคัญแทนสมาชิกอีกหลายคนในวง หัวโจกกู่แคนปักหมุดเล่าจุดเริ่มต้นที่มาที่ไปให้ฟังว่า

“พวกเราเรียนดนตรีพื้นบ้าน ตั้งคำถามตลอดว่า ข้างหน้าจะเอายังไง เพราะเราไม่รู้ทิศทาง หลายคนเรียนจบก็จบเลย น้อยคนที่จะทำงานต่อยอดด้านดนตรี เผลอๆ ออกไปแล้วไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ คุยกันในกลุ่มว่า ตกลงเราจะเป็นนักดนตรี คิดแล้วก็ลงมือทำเลย ดูความสามารถว่าใครเล่นอะไรได้บ้าง ทุกคนถนัดดนตรีอีสาน แต่เรามีวิชาดนตรีสากลติดตัวมาด้วย ก็เลยเอามาประยุกต์เข้าด้วยกัน อย่างผมเล่นเบสเล่นกีตาร์ได้ เป่าแคน เขียน/ร้องกลอนลำได้

“เราอยากแสดงพลังดนตรีอีสาน ว่าทำได้มากกว่าวงโปงลางหมอลำ เป่าแคนแล้วเท่ห์ เท่ห์ไม่แพ้ดีดกีตาร์จีบสาว เริ่มแรกพวกเราลงประกวดวงดนตรีร่วมสมัย ของ มข. ประกวดหมอลำกลอนในโครงการจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม มหกรรมสินไซ ปี 55 ช่วงนั้นเริ่มเรียกตัวเองแล้วว่า ‘กู่แคน’ แต่เราไม่หยุดแค่รางวัลตรงนั้น เพลงแรกของกู่แคนคือยังฮัก มีแคนเป็นตัวนำขับเคลื่อน ไม่นึกว่านอกจากจะถูกใจเรา ยังถูกใจคนฟังอื่นๆ ด้วย”

กู่แคนเลือกทวนกระแสความนิยม ด้วยฉีกกฎเดิมๆ ว่าความสำเร็จต้องมุ่งเป้าหมายปลายทางไปที่วงโปงลางพิณแคน เขาจับเสน่ห์ดนตรีอีสานวางไว้อย่างถูกที่ถูกทางกับแนวดนตรีสมัยใหม่ ไม่ว่าเป็น อีสานร็อค ป๊อบ เร้กเก้ ดั๊บ แจ๊ส หรืออีสานอคูสติก โฟล์คซอง เกิดเสียงใหม่ๆ ที่ไปได้ดีกับหูคนฟังในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเนื้อร้องที่สื่อสารด้วยภาษาอีสานอย่างตรงไปตรงมาไม่ดัดจริต เป็นความกล้าหาญของคนทำทางที่ไม่ต้องการเอาใจตลาดส่วนมาก แน่นอนว่าผลงานที่ถูกปล่อยออกไปมีทั้งโดนใจและโดนวิพากษ์วิจารณ์

“ชัดเจนว่า แนวดนตรีของเราไม่ย่ำซ้ำซากอยู่กับที่ ทำเพลงแนวไหนเราจะฟังเพลงแนวนั้นเยอะมาก ทั้งในและต่างประเทศ ‘เลิกกันสา’ เพลงร็อคที่ค่อนข้างฟังยาก หนวกหูสักหน่อย คืออีสานทำเพลงสไตล์ร็อคออกมานาน แต่ฟังแล้วไม่ใช่ร็อคอีสาน เพราะร็อคของคุณเอาภาษาไทยบ้างอีสานบ้างมาปนกัน ร็อคของผมเป็นสำเนียงเอเชีย ไม่ใช่ร็อคที่ก็อปปี้ใครเขามา ยืนพื้นด้วยภาษาอีสานบ้านผม ‘ยิ้มแหน่เด้อ’ เพลงนี้ยกระดับกู่แคนอีกขั้น เพราะผสมเครื่องเป่า พูดถึงงานสตูดิโอ ไม่ใช่จังหวะที่กู่แคนคุ้นเคย เป็นแนวเร้กเก้แต่ฟังสบาย

“มีครับที่บอกว่ามันหยาบคาย หมายถึงภาษาที่เราสื่อสารออกไป หลายเพลงที่คนยังเข้าไม่ถึง หรือไม่พร้อมที่จะรับ เพราะเราหนีจากรูปแบบเดิมไปมาก น้อมรับทุกคำวิจารณ์ แต่เรายังเชื่อมั่นแนวทางนี้ บางคนบอกกู่แคนเป็นดนตรีเพื่อชีวิต จะว่าอย่างนั่นก็ใช่ เราไม่ขังตัวเองอยู่กับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง กู่แคนคือการให้ความสำคัญกับทุกเสียง ทุกเสียงที่สัมพันธ์กันทั้งหมด ถึงตอนนี้งานเพลงเริ่มลงตัว ไปได้สวย นับว่าเป็นศักราชใหม่ของวงดนตรีอีสานก็ว่าได้”

ความจริงอย่างหนึ่งควบคู่ไปพร้อมกับการแสดงสด คือกู่แคนมี ‘สื่อ’ ของตัวเองในมือ โดยเฉพาะ Youtube.com ที่เข้าถึงง่าย กว้างขวาง เห็นผลไวและรุนแรง นอกจากความคิดและฝีมือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งนี้ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้พวกเขาเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทุกขั้นตอนการผลิตที่ควบคุมคุณภาพได้เองทั้งหมด ทั้งกระบวนความคิดและลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่แต่งคำร้อง เรียบเรียงทำนองดนตรี บันทึกเสียง คิดภาพประกอบ ถ่ายทำพร้อมตัดต่อเป็นชิ้นงานที่ถือได้ว่ามีคุณภาพและมีชีวิตชีวา ทั้งภาพ เสียง และเนื้อหา

เปิ้ล [สุธิวัส จันทร์แก้ว] หนุ่มสกลนคร เติบโตมาพร้อมกับกู่แคนตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากรับหน้าที่ดีดพิณเล่นกีตาร์ในวง เขายังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลิตและดูแลหน้าตาสื่อทุกชิ้นของวง ส่งผ่าน Youtube.com ช่อง ‘เติบนึง สตูดิโอ’ ที่ทุกวันนี้มียอดผู้ติดตามสูงกว่าเจ็ดหมื่นราย เขาเป็นคนสนใจเทคโนโลยีและชื่นชอบสารคดีต่างประเทศ ใฝ่ฝันอย่างยิ่งว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสผลิตงานดีๆ เช่นนั้นบ้าง เบื้องหลังโปรดักชั่นของเขามีเพียงคอมพ์ ซาวด์การ์ด และไมค์อย่างละชิ้น แต่ราคาความน่าเชื่อถือกลับทำงานได้ดีกว่าที่คิด เขาเล่าว่า

“กับค่ายเพลงที่ทำโปรดักชั่นใหญ่ๆ เราได้เปรียบกว่า เพราะต้นทุนของเราไม่ถึงสองร้อย หมดไปกับค่ากิน สถานที่ถ่ายทำก็มีอยู่แล้ว เท่ห์เพราะมันเป็นธรรมชาติ คนส่วนใหญ่มาถ่ายภาคอีสานตอนแล้ง ทำไมไม่ถ่ายตอนฝนตกหรือฤดูสวยๆ แล้วนิยามอีสานว่า แล้ง บ้านผมโคตรสมบูรณ์เลย ก่อนลงมือทำผมคิดว่า วัยรุ่นอายุเท่านี้ เสพงานประเภทนี้ รุ่นเดียวกันมันต้องดูยูทูป วีดิโอต้องทำสีแบบนี้ เฟรมภาพขนาดนี้ ต้องเป็นกล้อง DSLR วิเคราะห์ไว้เสร็จสรรพ

“คลิปแรกลำใส่แคนที่คณะเกษตร ตอนนั้นไม่ภูมิใจในฝีมือ ผลตอบรับดีเพราะกลอนลำเรื่องเณรคำกำลังเป็นกระแส คลิปสองเริ่มคิดว่าต้องถ่ายตรงไหน อัดเสียงอย่างไรไม่ให้มีเสียงรถ แต่งตัวแบบเดิม ต้องเท่ห์ ต้องเฟี้ยว อย่างแคนฮ้างนางฟ้า ขี่มอเตอร์ไซด์รอบมหา’ลัย แต่ก็ยังหาที่ถ่ายไม่ได้ แดดร้อนกลับมานอน ตื่นขึ้นมาก็ว่าเอาหน้าบ้านนี่แหละ อยากอัด อยากอัพ ตั้งกล้องกดอัดแล้วก็ทำท่าลิปซิงค์กีตาร์ ถ่ายแต่ละครั้งไม่ถึงกับเป็นสูตรสำเร็จ เพราะเพลงโดดเด่นด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เราต้องการให้เพลงไปถึงหูคนที่เขารอฟังเร็วๆ เท่านั้น”

ชีวิตธรรมดาหลังวงดนตรีของสมาชิกกู่แคน นอกจาก อัฐ นักศึกษาที่ศรัทธาประสบการณ์จริงมากกว่าความรู้หน้าชั้นเรียน เปิ้ล ครูสอนดนตรีพื้นบ้านโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ยังมี ตุ๊ [อานนท์ บุญสอาด] เจ้าของเสียงแคนในวง ทุกวันนี้เป็นนักศึกษาฝึกสอนอยู่ที่ อ.บ้านไผ่ บ้านเกิดของเขา เค [อนุสิทธิ์ มูลจันทร์] ดีดพิณ ครูสอนดนตรีพื้นบ้านขวัญใจเด็กๆ เดินทางไกลมาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เลย บาส [ศรายุทธ์ โคตรทุม] หมอแคนอาชีพ คู่ขวัญหมอลำธีรวัฒน์ เวฬุวัน และศิลปินรับเชิญ โต๋ [ชัยวัฒน์ โกพลรัตน์] หมอแคนมากความสามารถ นักศึกษาปริญญาโทจากรั้วดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บาส ช่วยเล่าเสริมว่า “ช่วยกันทุกคน แต่ละคนถนัดต่างกัน ทีมเราเอาความเก่งมาบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด อัฐเป็นคนแต่งคำร้อง คิดเมโลดี้กับคอร์ดหลัก คนในวงจะช่วยกันแจม โครงสร้างหรืออารมณ์แบบนี้เหมาะกับใคร คนนั้นเป็นคนเติม ของผมจะออกมันส์ๆ สนุกๆ ซ้อมหนักจนรู้ใจ วางแผนว่าต้องทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น ทุกคนต่างมีภารกิจส่วนตัว แต่เราไม่เคยมีข้อแม้ในการทำงาน จากเดิมที่อัดเสียงทีละชิ้น ไม่ล่ะ เราจะอัดเสียงกับวีดิโอพร้อมกันทั้งวง ตอนนี้อุปกรณ์พร้อมกว่าแต่ก่อน อารมณ์เพลงที่ได้ก็จะสมบูรณ์มากขึ้น”

นอกจากผลงานเพลงที่เปิดให้ฟังฟรีอย่างไม่หวงเนื้อหวงตัวในโลกออนไลน์ กู่แคนยังมีผลงานเพลงรวมอัลบั้มออกมาให้ได้ชื่นชมแล้ว 2 ชุด ตั้งแต่ชุด ‘เพลงรักจากไทบ้าน’ และ ‘แฮกมหัน’ จัดจำหน่ายผ่าน Facebook.com เว็ปเพจ ‘กู่แคน ไทบ้านผู้สร้างงานศิลป์’ เป็นไปได้ว่า เร็วๆ นี้เตรียมพบกับผลงานชุดใหม่จำนวน 25 เพลง บรรจุใน Flash Drive รูปแคนขนาด 4gb ที่พวกเขาตั้งอกตั้งใจทำเป็นพิเศษ เป็น 25 เพลงที่ไม่ได้พูดถึงแต่เพลงรักเพียงอย่างเดียว ไม่เท่านั้น อัฐยังเผยให้ตื่นเต้นกับการทาบทามเซ็นสัญญาและคอนเสิร์ตใหญ่กู่แคนที่จะมีขึ้นในช่วงต้นหนาวนี้ด้วย

“มีค่ายเพลงโทรมาจีบเบาๆ แต่ผมปฏิเสธไปทุกครั้ง ปัญหาคือเงื่อนไขที่ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง เล่นดนตรีมาทุกรูปแบบ แต่ความสุขไม่เท่าเล่นกับเพื่อนกับคนรักที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มันมีความหมายมาก เรื่องคอนเสิร์ตคิดไว้เกินครึ่ง เป็นโปรดักชั่นใหญ่ คุณจะได้ฟังเพลงเด่นเพลงใหม่จากกู่แคนแบบสดๆ เต็มอิ่ม จัดเป็นตลาดนัดศิลปะ วัยรุ่นทำงานศิลป์ภาคอีสานจะมารวมตัวกันในงานนี้ ใครมีดีมีฝีมือก็เอางานมาอวดกัน สถานที่จัดคงเป็นพุทธมณฑล ขอนแก่น วันเวลาที่แน่นอนต้องติดตาม รับรองไม่ผิดหวัง”

สมาชิกกู่แคนประกาศพร้อมกันอย่างชัดเจนว่า ‘พวกเขาไม่ใช่แค่วงดนตรี แต่เป็นเสียงของคนรุ่นใหม่’ คนรุ่นใหม่ที่ใช้เสียงดนตรีปลุกกระแสท้องถิ่นนิยมอย่างสร้างสรรค์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่และพัฒนาดนตรีอีสานที่ไม่มีวันตายให้ขยับไปอีกขั้น ไม่เฉพาะเป็นที่นิยมของคนในประเทศเท่านั้น เพลงของกู่แคนยังดังไกลไปถึงหูคนไทยในอีกหลายประเทศต่างแดน เสียงสะท้อนตอบกลับจากแฟนเพลงจึงเป็นมากกว่าข้อความสั้นๆ ที่ส่งกำลังใจถึงพวกเขา อัฐเล่าส่งท้ายพร้อมอนาคตความฝันเล็กๆ ที่พวกเขามีร่วมกันว่า

“วัยรุ่นอีสานที่มีสาระรุ่นล่าสุด นี่คือประโยคที่ผู้ใหญ่บอกต่อๆ กัน กับคนอายุ 35-40 ปี เขารู้ว่าพวกผมกำลังทำอะไร เขาอยากสนับสนุนให้ไปต่อ ไม่อยากให้หยุดไว้แค่นี้ มีน้องๆ หลายคนโคฟเวอร์เพลงกู่แคนลงยูทูป บางคลิปออกมาร้องกันทั้งครอบครัว เช็คยอดคนดูยูทูป ประเทศที่สองรองจากไทยคือ ไต้หวัน แล้วมาลาว หลายคนส่งครีมมาให้ถึงที่ คงอยากให้เราหน้าขาวกว่านี้ หรือว่า ว่างๆ ก็ให้มาทัวร์ที่เกาหลี คนอีสานที่ไต้หวันร้องแคนฮ้างนางฟ้าส่งมาให้ฟังเลยครับ ดีใจมาก

“คุยกันว่าอนาคตอยากเปิดโรงเรียน ‘กู่แคนสคูล’ ถ้าพลังสร้างสรรค์มากพอ เราจะมอบประสบการณ์ความรู้ที่ได้ให้คนรุ่นใหม่ สร้างคนที่สร้างงานเพื่องาน อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก เรื่องของดนตรี/ศิลปะ เด็กวัยรุ่นเป่าแคนเป็น เด็กรุ่นใหม่สร้างประโยชน์เพื่อสังคมรอบตัว คิดว่าจะช่วยเขาอย่างไร ขนาดครูที่โรงเรียนเขายังไม่ฟัง เราจะทำเป็นตัวอย่าง ถ้าวันหนึ่งมาเห็น เขาอาจมีพลังมากกว่าที่เราเป็นอยู่

“พลังศิลปินที่ได้จากกู่แคนเป็นแรงบันดาลใจ”

“ร่วมมือกันตื่นแต่เช้า 6.00 นัดพ้อกันยุสวนคณะเกษตร ข้าวบ่ได้กิน น้ำกะบ่มี แดดฮ้อนกะฮ้อน
“ลุกจากที่นอนในเวลาที่ทุกคนไม่ปรารถนาในการตื่นนอน เพื่อมาเฮ็ดสิ่งบ่เป็นก้าวสิ่งนี้ เราเรียกมันว่างานศิลปะ เพื่อตอบสนองความต้องการของเราเอง โดยไม่ต้องการสิ่งใดๆ เพียงแต่อยากเป็นหนึ่งกระจกบานเล็กๆ ที่หวังอยากที่จะสะท้อนมุมเล็กๆ ให้สังคม ได้มองเห็นตัวเอง
“ร้องลำเป็นศิลปะคู่ความเป็นไทบ้าน ใช้ภาษาท้องถิ่น ต้องขออภัยหากไม่สะดวกในการรับชม…”
[บันทึกสั้นๆ จากกู่แคน สคูล สื่อสารกับคนเข้าชมใน Youtube.com บอกตัวตนและอุดมการณ์ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี]

[เรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์สมาชิกวงดนตรีกู่แคน สคูล เย็นวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 58 มหาวิทยาลัยขอนแก่น]

 

สมาชิกกู่แคน

สมาชิกกู่แคน สคูล [จากซ้าย] ฟีล์ม [โยธิน แก้ววิลัย-ศิลปินรับเชิญ] โต๋ [ชัยวัฒน์ โกพลรัตน์] เปิ้ล [สุธิวัส จันทร์แก้ว] บาส [ศรายุทธ์ โคตรทุม] อัฐ [จิรายุ สูตรไชย] เค [อนุสิทธิ์ มูลจันทร์] ตุ๊ [อานนท์ บุญสอาด]

DSC06626

อัฐ [จิรายุ สูตรไชย] หรือที่รู้จักในฉายาหมอลำ ‘ก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน’ หนุ่มผมยาวร่างบางนักร้องนำวง หัวโจกกู่แคน

 

DSC06635

กู่แคนจับเสน่ห์ดนตรีอีสานวางไว้อย่างถูกที่ถูกทางกับแนวดนตรีสมัยใหม่ ไม่ว่าเป็น อีสานร็อค ป๊อบ เร้กเก้ ดั๊บ แจ๊ส หรืออีสานอคูสติก โฟล์คซอง

DSC06779

สัมภาษณ์สมาชิกวงดนตรีกู่แคน สคูล เย็นวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 58 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทความ คัดลอกจาก kotavaree.com