คาราบาว

แหล่งกำเนิด ประเทศไทย

แนวเพลง ร็อก, เพื่อชีวิต

ปี พ.ศ. 2524 - ปัจจุบัน

ค่าย พีค็อก, อโซน่า, แกรมมี่ ,แว่วหวาน, วอร์นเนอร์ มิวสิก ประเทศไทย, ดีเดย์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, กระบือแอนด์โค, มองโกล

คาราบาว (Carabao) เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตและยังเป็นตำนานเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงโด่งดังและยังเป็นวงที่อมตะตลอดกาล ของไทย

ประวัติ

ก่อตั้ง

วงคาราบาวเกิดจากการก่อตั้งโดยนักเรียนไทยที่ฟิลิปปินส์ 3 คน คือ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) กับ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) และ สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) ขึ้นที่นั่น ในปี พ.ศ. 2523 โดยคำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล็อก คือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร โดยหมายจะเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต

ที่ฟิลิปปินส์ แอ้ดได้พบกับเพื่อนคนไทยที่ไปเรียนหนังสือที่นั้น คือ สานิตย์ ลิ่มศิลา ( ไข่) และ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ( เขียว) ซึ่งยืนยงได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน ,จอห์น เดนเวอร์ ,ดิ อีเกิ้ลส์ และปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ ไข่ สานิตย์ ลิ่มศิลา สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมา ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า คาราบาว เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของมหาวิทยาลัย โดยเล่นดนตรีโฟล์คในเนื้อหาที่สะท้อนสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคม

เมื่อกลับมาเมืองไทย แอ๊ดและเขียวได้ร่วมกันเล่นดนตรีในเวลากลางคืน โดยกลางวันแอ๊ดทำงานอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ เขียวทำให้กับบริษัทฟิลิปปินส์ที่มาเปิดในประเทศไทย ส่วนไข่ก็ได้แยกตัวออกไป ทั้งคู่ออกอัลบั้มชุดแรกของวง ในชื่อ ขี้เมา เมื่อปี พ.ศ. 2524 ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้มีสมาชิกในวงเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน คือ ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) จากวงเพรซซิเด้นท์ และออกอัลบั้มเป็นชุดที่ 2 ในชื่อ แป๊ะขายขวด ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีก

รุ่งเรือง

คาราบาว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในอัลบั้มชุดที่ 3 ในปี พ.ศ. 2526 จากอัลบั้ม วณิพก ด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม โดยมีเนื้อหาที่แปลกแผกไปจากเพลงในยุคนั้น ๆ และดนตรีที่เป็นท่วงทำนองแบบไทย ๆ ผสมกับตะวันตก มีจังหวะที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกคึกคัก เต้นรำได้

คาราบาวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในปลายปี พ.ศ. 2527 เมื่อออกอัลบั้มชื่อว่า เมดอินไทยแลนด์ เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 5 ล้านตลับ ซึ่งเป็นสถิติยอดจำหน่ายอัลบั้มเพลงของศิลปินไทยที่สูงที่สุดของไทยไม่มีใครทำลายได้มาจนปัจจุบัน และเมื่อจัดคอนเสิร์ตใหญ่ ก็มียอดผู้ชมถึง 6 หมื่นคน

โดย คาราบาว ในยุคนั้นเรียกว่ายุคคลาสสิก มีสมาชิกในวงทั้งสิ้น 7 คน ประกอบด้วย

 

  1. ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : ร้องนำ กีตาร์ แต่งเพลงและดนตรี หัวหน้าวง
  2. ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : ร้องนำ กีตาร์ แต่งเพลงและดนตรีบางส่วน
  3. เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : ร้องนำ กีตาร์
  4. กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : ร้องนำบางส่วนและประสานเสียง กีตาร์ ควบคุมการผลิต
  5. เกริกกำพล ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส
  6. อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ธนิสร์) : ขลุ่ย ร้องนำบางส่วนและประสานเสียง แซกโซโฟน คีย์บอร์ด
  7. อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง,เพอร์คัสชั่น

 

ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2533 เรียกได้ว่าเป็นปีทองของคาราบาว โดยมีแอ๊ดเป็นผู้นำ โดยออกอัลบั้มออกมาทั้งหมด 5 ชุด ทุกชุดประสบความสำเร็จทั้งหมด ได้เล่นคอนเสิร์ตที่อเมริกาและยุโรปหลายครั้ง มีหลายเพลงที่ฮิตติดอยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ จนปัจจุบัน เช่น เมดอินไทยแลนด์, เจ้าตาก, หำเทียม, มหาลัย, เรฟูจี, บาปบริสุทธิ์, แม่สาย, ทับหลัง, สัญญาหน้าฝน เป็นต้น อีกทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในด้านต่าง ๆ เช่น

เป็นศิลปินกลุ่มแรกของไทยที่มีโฆษณาลงในปกอัลบั้มและได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ในสังคม

การแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง ที่ชื่อ ทำโดยคนไทย ในปี พ.ศ. 2528 นับเป็นคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ครั้งแรกของไทย และเป็นครั้งแรกด้วยที่มีการแสดงดนตรีในเวทีกลางแจ้ง

อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ แม้จะไม่มีมิวสิกวีดีโอ แต่เมื่อเพลงได้ถูกเผยแพร่ออกไป และได้รับความนิยม ทางรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในเนื้อหา จึงได้จัดทำมิวสิกวีดีโอขึ้นมาต่างหาก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยใช้ของไทย

เพลงบางเพลงที่มีเนื้อหาส่อเสียด มักจะถูกสั่งห้ามเผยแพร่ออกอากาศเสมอ ๆ ในแต่ละอัลบั้ม

แยกย้ายและในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2533 สมาชิกในวง 4 คน คือ เขียว เทียรี่ อ.ธนิสร์ และเป้า ได้แยกตัวเป็นอิสระออกไป และทางวงก็ได้รับสมาชิกเพิ่มมา มาแทนที่ตำแหน่งที่ออกไป และยังคงออกอัลบั้มต่อมา และเทียรี่ที่แยกตัวออกไป ก็ได้กลับมาร่วมวงอีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 คาราบาวก็ได้ออกอัลบั้มชุดพิเศษ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกชุดเดิม 7 คน ในชื่อชุด 15 ปี คาราบาว หากหัวใจยังรักควาย โดยออกมาถึง 2 ชุด ด้วยกัน

แต่หลังจากปี พ.ศ. 2540 ชื่อเสียงและความนิยมของวงคาราบาวเริ่มสร่างซาลง เนื่องจากกระแสดนตรีที่เปลี่ยนไป แต่วงก็ยังคงผลิตผลงานออกมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 คาราบาว กลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งของสังคม เมื่อวงโดยแอ๊ดมีสินค้าของตัวเองออกมาจำหน่าย เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง ยี่ห้อ คาราบาวแดง ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และวงก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 23 คือ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกัน

จนถึงปัจจุบันนี้ คาราบาวมีอัลบั้มทั้งสิ้น 26 ชุด ไม่นับรวมถึงอัลบั้มพิเศษของทางวงหรือของสมาชิกในวง หรือบทเพลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากนับรวมกันแล้วคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด มีเพลงไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง เป็นวงดนตรีที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดทั้งในวงการดนตรีทั่วไปและวงการเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ฟังเพลง หรือผู้ที่นิยมในเพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ตำนานเพลงเพื่อชีวิต

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 มีกระแสข่าวออกมาว่า นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของคาราบาว เพื่อผลประโยชน์ด้านการเมือง และเพื่อให้การบริหารจัดการในวงมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่นายวินิจ เลิศรัตนชัย ผู้บริหารบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ในฐานะผู้จัดมหกรรมดนตรี 30 ปี คาราบาว ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของคาราบาวในวาระครบรอบ 30 ปีของวง ซึ่งจะแสดงเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2554 ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว

ในปีพ.ศ. 2556 ประมาณเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายนทาง บริษัท วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย)จำกัด ได้ร่วมมือกับ Seven Eleven และ Book Smlie ในการแจก Carabao MP3 Collection ซึ่งแต่ละเพลงจะเป็นเพลงสมัยแรกของคาราบาว

สมาชิกปัจจุบัน

 

  1. ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : ร้องนำ, กีตาร์, แต่งเพลงและดนตรี, หัวหน้าวง
  2. ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : ร้องนำ, กีตาร์, แต่งเพลงและดนตรีบางส่วน, ประสานเสียง
  3. เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : ร้องนำ, กีตาร์, ประสานเสียง
  4. เกริกกำพล ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส, ประสานเสียง
  5. ลือชัย งามสม (ดุก) : คีย์บอร์ด, แตร, แอกคอร์เดียน, ร้องนำบางส่วน, ประสานเสียง
  6. ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี) : กีตาร์, ประสานเสียง
  7. ชูชาติ หนูด้วง (โก้) : กลอง
  8. ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย (อ้วน) : ขลุ่ย, กลอง, ประสานเสียง

 

อดีตสมาชิก

 

  1. สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) : ร่วมก่อตั้งวงแต่ไม่ได้ออกอัลบั้ม
  2. ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) : เบส (พ.ศ. 2526 - 2527) (เสียชีวิต)
  3. ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี  : คีย์บอร์ด,แซกโซโฟน,ขลุ่ย,ร้อง (พ.ศ. 2526 - 2532,พ.ศ. 2538-2539,พ.ศ. 2554-2555 (ร่วมวงอีกครั้งในโอกาสครบรอบ30ปีคาราบาว))
  4. อำนาจ ลูกจันทร์  : กลอง,เพอร์คัสชั่น (พ.ศ. 2526 - 2532, พ.ศ. 2538-2539)
  5. กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร  : กีตาร์,ร้องนำ (พ.ศ. 2524 - 2534 ,พ.ศ. 2538-2539 ,2541,2550)