พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

ชื่อเกิด พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

ชื่อเล่น อ๊อฟ

เกิด 2 กันยายน พ.ศ. 2504 (51 ปี)

จังหวัดกำแพงเพชร

คู่สมรส ธัญญา วชิรบรรจง

อาชีพ นักร้อง, นักแสดง, ผู้กำกับละครโทรทัศน์, ผู้กำกับภาพยนตร์

รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์

นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม ต้องปล้น (พ.ศ. 2534)

นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (เข้าชิง) โหมโรง (พ.ศ. 2547)

รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พันธุ์หมาบ้า (พ.ศ. 2533)

รางวัลโทรทัศน์ทองคำ

ดาราสนับสนุนชายดีเด่น โสมส่องแสง (พ.ศ. 2537)

ดารานำชายดีเด่น ดงดอกเหมย (พ.ศ. 2546)

ผู้กำกับละครดีเด่น กุหลาบสีดำ (พ.ศ. 2548)

ดาราสนับสนุนชายดีเด่น พระจันทร์สีรุ้ง (พ.ศ. 2552)

รางวัลเมขลา

ผู้กำกับละครโทรทัศน์มหานิยม รอยไหม (พ.ศ. 2554)

พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (ชื่อเล่น: อ๊อฟ) เกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 เป็นนักร้อง, นักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ทางด้านธุรกิจเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอค อาร์ต เจเนอเรชั่น จำกัด

ประวัติ

สู่วงการบันเทิง

พงษ์พัฒน์ เรียนจบระดับปริญญาตรีทางด้านพลศึกษา มีพ่อแม่เป็นครู เข้าไปเป็นพนักงานที่บริษัทผลิตรองเท้ากีฬาแห่งหนึ่ง โดยดูแลงานในส่วนของฝ่ายผลิตภัณฑ์ทั้งงานผลิตและการตลาด แต่หลังจากนั้นก็ได้เข้ามาเป็น 1 ในคนทางบ้านที่สมัครเข้าแข่งขันในรายการเกมโชว์ที่โด่งดังในยุคนั้น คือ มาตามนัด และ พลิกล็อก และเป็นที่เข้าตาทีมงานบริษัทเจเอสแอล เมื่อทางบริษัทกำลังจะเปิดตัวละครเรื่องใหม่ที่ต้องการนักแสดงที่มีบุคลิกกำยำ แข็งแรง พงษ์พัฒน์จึงถูกเรียกให้เข้ามาทดสอบการแสดง จนได้แสดงละครครั้งแรกคือเรื่อง เมฆินทร์พิฆาต ในปี พ.ศ. 2528 ถือเป็นการเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว และเริ่มมีงานละครอีกหลายเรื่องในระยะเวลาต่อมา

นักร้อง

พงษ์พัฒน์มีชื่อเสียงจากการเป็นนักร้องในแนวร็อก สังกัดคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ โดยได้ออกผลงานเพลงของตนเองจำนวน 7 ชุด ก่อนจะพลิกบทบาทมาอยู่เบื้องหลังในฐานะผู้กำกับละครและภาพยนตร์ ควบคู่กับงานแสดง และงานร้องเพลงตามที่ว่าจ้าง

การเมือง

ขณะปราศรัยบนเวทีกับ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ที่หน้าสยามพาราก้อนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2549 ในคราวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2550 พงษ์พัฒน์เป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมในการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย โดยได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมกับ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เพื่อนพงษ์พัฒน์

รางวัลนาฏราช

ในงานประกาศผลและมอบรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 1 ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 พงษ์พัฒน์ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากบทคุณพ่อผู้อาภัพในละครเรื่อง พระจันทร์สีรุ้งแล้ว ซึ่งเมื่อขึ้นรับรางวัล และกล่าวขอบคุณ รวมถึงกล่าวเทิดทูนและปกป้องในหลวง ได้สร้างความฮือฮาและซาบซึ้งให้แก่นักแสดงและแขกที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก รวมถึงยังได้เกิดกระแสบนอินเทอร์เน็ต ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีทั้งคล้อยตามและขัดแย้ง โดยต่างมีเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนแตกต่างกันไป

ละคร

ละครที่นำกลับมาทำใหม่อีกครั้งและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ทองเนื้อเก้า กับการคัดเลือกบท ลำยอง ว่านักแสดงคนใดจะได้รับบทนี้ และสุดท้ายปรากฏว่า รายชื่อดารานอกสายตาอย่าง นุ่น วรนุช ก็คว้าบทนี้ไปอย่างพลิกความคาดหมาย