อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง

ชื่อเกิด ศักดิ์ดา พงศ์เรืองรอง

ชื่อเล่น กี้ร์

ฉายา นักร้องเสียงอมฮอลล์

วันเกิด 8 มกราคม พ.ศ. 2507 (49 ปี)

แหล่งกำเนิด อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

แนวเพลง ป๊อป, ลูกทุ่ง

อาชีพ นักร้อง,

นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ปี พ.ศ. 2531-พ.ศ. 2542

ค่าย อาร์.เอส. โปรโมชั่น

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง (เดิมชื่อ ศักดา พงศ์เรืองรอง)  เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2507 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายฮินดู เป็นลูกชายของนายกิมเฮง และนางน้ำผึ้ง พงศ์เรืองรอง โดยที่พ่อและแม่เคยเป็นพระเอกและนางเอกลิเกมาก่อน อริสมันต์มีน้องชายอยู่ 2 คนคือ ปัญญา และ อาชาครินต์(ซึ่งได้เป็นนักร้องในสังกัดอาร์.เอส. โปรโมชั่นอยู่ช่วงหนึ่งด้วย จากการสนับสนุนของอริสมันต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผลงานคล้ายกับอริสมันต์มาก) และมีพี่สาวซึ่งเป็นลูกคนโต ชื่อ นภา และไชยา เป็นพี่ชายคนรอง

การศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ปริญญาโทรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธุรกิจ

ครอบครัวพงษ์เรืองรอง เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อ บริษัท พงศ์เรืองรองก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2538 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 33/1 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนายไชยา พงษ์เรืองรอง ถือหุ้นใหญ่ 6,000 หุ้น นายเฮง พงษ์เรืองรอง 1,000 หุ้น นางน้ำผึ้ง พงษ์เรืองรอง 600 หุ้น นายอริสมันต์ 600 หุ้น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ระหว่างปี 2549 -2553 บริษัท พงษ์เรืองรองก่อสร้าง จำกัด แจ้งว่ารายได้แต่ละปีรวม 101,467,418 บาท กำไรสุทธิรวม 5,200,144 บาท และพบว่ารายได้จะมากขึ้นในช่วง 2 ปีหลัง โดยเฉพาะปี 2552 รายได้ 23,377,686

และยังมีญาติที่ร่วมทุนทำธุรกิจยางมะตอย ชื่อ บริษัท โซล่า แอสฟัลท์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2542 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยผลประกอบการในปี พ.ศ. 2550 มีรายได้ 455.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10 ล้านบาท ต่อมาในปี 2551 มีรายได้ 428. บาท ขาดทุนสุทธิ 4.2 ล้านบาท รวมสินทรัพย์ 207.1 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่ในปี 2551-2552 พบว่า บริษัท โซล่า แอสฟัลท์ จำกัด รับงานกรมทางหลวงตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งหมด 15 สัญญา วงเงินกว่า 27 ล้านบาท

ครอบครัว

ชีวิตครอบครัว อริสมันต์สมรสกับนางรพีพรรณ พงศ์เรืองรอง หญิงชาวขอนแก่น (ปัจจุบันเป็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2554)ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันทั้งหมด 1 คน

หนังสือบทกวี

หลังจากอัลบั้มเพลงของอริสมันต์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้อริสมันต์ได้ออกหนังสือวรรณกรรมรวมกวีในชื่อว่า วันนี้สำคัญ...เพราะเมื่อวานดี ซึ่งออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2532 โดยหนังสือเล่มนี้อ้างว่าตนเป็นผู้เขียนกวีนี้ทั้งหมด แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบทกวีบางส่วนเป็นของนักเขียนคนอื่น ๆ รวมไปถึงของ ศุ บุญเลี้ยง ไม่ใช่ของอริสมันต์แต่อย่างใด

วงการบันเทิง

อริสมันต์เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ได้ขายกางเกงยีนส์และเสื้อผ้าราคาถูกที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เริ่มมีชื่อเสียงมาจากออกอัลบั้มชุดแรกกับบริษัทอาร์.เอส. โปรโมชั่น ด้วยการชักชวนของอิทธิ พลางกูร ในชุด ความหมายของผู้ชายคนหนึ่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 ก็โด่งดังทันทีจากเพลง ไม่เจียม, เธอลำเอียง เพราะมีรูปแบบการร้องที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนด้วยเสียงที่กลั้วอยู่ในลำคอเหมือนออกเสียงไม่ชัด แต่เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว ซึ่งถูกเรียกว่าอมลูกอมฮอลล์ในขณะร้องเพลง จนได้รับฉายาว่า นักร้องเสียงอมฮอลล์ ประกอบกับเนื้อหาของเพลงที่ใช้ภาษาที่แปลกออกไปจากเพลงทั่วไป แต่มีความหมายเฉพาะตัวและสร้างความรู้สึกโรแมนติกได้อย่างประหลาด ซึ่งเจ้าตัวจะเป็นผู้เขียนเนื้อเพลงเอง

จากนั้นอริสมันต์ก็ได้ออกอัลบั้มตามมาอีกหลายชุด เช่น เจตนายังเหมือนเดิม, ฝันมีชีวิต, เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จทุกชุดและมีหลายบทเพลงที่เป็นที่รู้จักของแฟนเพลงตราบจนปัจจุบัน เช่น ยอมยกธง, ทัดทาน, ใจไม่ด้านพอ, เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง, คนข้างหลัง, รักเธอเสมอใจ เป็นต้น ซึ่งทุกชุดมีอิทธิ พลางกูร เป็นโปรดิวเซอร์ และเนื้อเพลงทั้งหมดอริสมันต์จะเป็นผู้เขียนเอง

และในกลางปี พ.ศ. 2536 ได้แสดงละครโทรทัศน์ทางช่อง 9 ในสังกัดอาร์.เอส. โปรโมชั่น ออกอากาศในวันเสาร์-อาทิตย์ช่วงบ่าย โดยอริสมันต์เล่นเป็นตัวเอกในเรื่อง ซึ่งเป็นละครเรื่องแรกและเรื่องเดียวของอริสมันต์ตราบจนทุกวันนี้

หลังจากปี พ.ศ. 2540 ไปแล้ว ชื่อเสียงและความนิยมของอริสมันต์เริ่มสร่างซาลง และเจ้าตัวก็หันไปมีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ในปี พ.ศ. 2542 อริสมันต์ได้ออกอัลบั้มเพลงลูกทุ่งขึ้นมาหนึ่งชุด ในชื่อชุดว่า กังวานทุ่ง และในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ก็ได้จัดคอนเสิร์ตของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง ชื่อ เวทีนี้ยังมีพี่เลี้ยง ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก และล่าสุดอริสมันต์ได้ทำอัลบั้มชุดใหม่ที่มีชื่อว่า รักในโฟนอิน ซึ่งอัลบั้มเพลงนี้ไม่ได้อยู่ในสังกัดอาร์เอสและเพลงในอัลบั้มชุดนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับทางการเมืองโดยอัลบั้มชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหา รายได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย การเยียวยาผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบ จากการผลักดันการชุมนุมในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 

งานการเมือง

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ได้ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกโดยสังกัดพรรคพลังธรรม ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตบางกอกน้อย และประสบความสำเร็จ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยแรก แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อริสมันต์สังกัดอยู่ในพรรคเดิมและพื้นที่เดิม กลับไม่ได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 สมาชิกพรรคพลังธรรมหลายคนได้ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย อริสมันต์ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสมาชิกที่ย้ายไปด้วย และในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 อริสมันต์ก็ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทยในแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 56 ของพรรค และมีบทบาทเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายประชา มาลีนนท์) และในวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 อริสมันต์ได้แต่งและร้องเพลงพิเศษที่มีชื่อว่า คนของแผ่นดิน ที่มีเนื้อหาสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านผด็จการแห่งชาติ

ในคืนวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550 อริสมันต์ได้ร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มพีทีวี และ อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ที่รวมตัวยกันในนาม แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ท้องสนามหลวง เคลื่อนย้ายขบวนฝ่าแนวป้องกันของตำรวจไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น อีกทั้งในคืนวันที่ 18 มิถุนายน ก็ได้ขึ้นรถปราศรัยโดยด่าว่าทหาร และตำรวจที่รักษาความสงบอยู่ด้วย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 อริสมันต์ลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร ในเขต 12 (บางพลัด บางกอกน้อย ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา) สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาได้เข้าร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยได้ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและประธานองคมนตรี

ในเหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 อริสมันต์เป็นแกนนำผู้ชุมนุมที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยนำผู้ชุมนุมทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงและที่สมทบจากกรุงเทพฯ เพื่อปิดล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้เข้าปิดล้อมหน้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เพื่อเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนอาเซียน และในวันต่อมาได้กลับมาชุมนุมหน้าโรงแรมอีกครั้ง เพื่อกดดันรัฐบาลให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มคนสวมเสื้อสีน้ำเงินในช่วงเช้า และนำกำลังหลายร้อยคน บุกเข้าในสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ทำให้ความปลอดภัยของผู้นำมิตรประเทศมีความเสี่ยงสูงมาก จนกระทั่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมจำเป็นต้องขอเลื่อนการประชุมออกไปกลางคันโดยไม่มีกำหนด ส่งผลให้ผู้นำประเทศต่างๆต้องอพยพออกจากสถานที่ประชุม และบินกลับประเทศตนเองโดยปลอดภัยทุกท่าน หลังจากนั้นอริสมันต์ได้ถูกตำรวจจับกุมตัวที่บ้านพักในเขตตลิ่งชันขณะพยายามปีนหน้าต่างหลบหนี และถูกควบคุมด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังจังหวัดราชบุรี แต่ต่อมาศาลอนุมัติให้ประกันตัวไปด้วยวงเงิน 5 แสนบาท และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออนุมัติหมายจับนายอริสมันต์ในข้อหา กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งศาลพิจารณาแล้วได้อนุมัติหมายจับนายอริสมันต์

ในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 ในวันที่ 7 เมษายน นายอริสมันต์เป็นผู้นำผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาระหว่างมีการประชุมสภากันอยู่ โดยที่แกนนำหลักทั้ง 3 คือ นายวีระ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธ์ ไม่ได้มีมติให้ทำเช่นนั้น ซึ่งต่อมาทางรัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีเหตุร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงตามมา

ต่อมาในเช้าวันที่ 16 เมษายน นายอริสมันต์พร้อมกับแกนนำ นปช.คนอื่น ๆ ซึ่งมีหมายจับจากศาลอาญา เช่น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ต้องหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะที่พักผ่อนกันอยู่ในโรงแรมเอส.ซี.ปาร์ค ย่านรามคำแหง โดยที่นายอริสมันต์ต้องโหนตัวกับเชือกลงมาจากหน้าต่างห้องพักชั้น 3

ในช่วงเวลาที่การก่อเหตุการความวุ่นวาย และการก่อจลาจลในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤษภาคม ใกล้จบลง เมื่อแกนนำเช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และแกนนำเสื้อแดงรวม 7 คน ได้ประกาศสลายการชุมนุม และขอเข้ามอบตัวต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีข่าวว่านายอริสมันต์ ได้หลบหนีไปจากแยกราชประสงค์ ตั้งแต่ช่วงเช้าเมื่อสถานการณ์ของ นปช. เริ่มเสียเปรียบฝ่ายทหาร โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤษภาคม โดยมีรายงานข่าวเบื้องต้นว่า นายอริสมันต์ ที่หลบหนีไป ถูกจับได้ที่สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ขณะกำลังหาทางหลบหนี แต่ต่อมาได้มีการยืนยันว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง

แกนนำฮาร์ดคอร์

ส่วนนี้ของบทความอาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป

อริสมันต์ ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำของ นปช. ที่นิยมใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ มาจากพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น การที่ปราศรัยว่าจะทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นทะเลเพลิง, การที่นำเอาผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท ขณะที่มีการประชุมกันอยู่ทำให้การประชุมต้องยุติลง, การบุกอาคารรัฐสภาโดยไม่ใช่มติของแกนนำอีกหลายคน หรือ การที่บุกอาคารที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และได้ข่มขู่เจ้าหน้าที่ภายใน เป็นต้น จึงได้ชื่อว่าเป็น แดงฮาร์ดคอร์ หรือ แกนนำสายฮาร์ดคอร์ แต่เจ้าตัวก็ได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อริสมันต์หลบซ่อนอยู่ที่ประเทศกัมพูชาและเข้ามอบต้วที่ศาลพัทยาวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และถูกคุมขังจนกระทั่ง 28 ธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวนายอริสมันต์ เป็นเงิน 6 ล้านบาทและนัดพิจารณาคดี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อุปสมบท

อริสมันต์เข้าอุปสมบท เพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา รวมถึงอุทิศส่วนกุศลแก่คนเสื้อแดง ซึ่งเสียชีวิตในการสลายการชุมนุม ที่วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ระหว่างวันที่ 19 มกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 มีฉายา ฐิตมนโต หมายถึง ผู้มีความสำเร็จตั้งมั่นดีแล้ว โดยมีศรัทธาตั้งมั่นว่าหากศาลอนุญาต จะออกปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดียด้วย